สุขภาพดีกับผัก ผลไม้ 5 สี

ทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ผักและผลไม้มีวิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ และสารอาหารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมาย แต่หลายคนคงยังไม่ทราบใช่ไหมล่ะคะว่า ผักผลไม้สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม 5 สี แต่ละสีก็มีสารอาหารและคุณประโยชน์ที่แตกต่างกันไป การทานผักผลไม้ให้หลากหลายและครบทั้ง 5 สีจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง ความดันโลหิต มะเร็งบางชนิด เป็นต้น อีกทั้งทำให้ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณสดใส ชะลอความแก่ชราได้อีกต่างหาก วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับผักผลไม้ 5 สี ว่ามีสีอะไรบ้างและแต่ละสีมีประโยชน์อย่างไร ตามมาดูกันเลย

ผักผลไม้สีเขียว
ผักผลไม้ที่มีสีเขียวมีสารสำคัญ คือ คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll), ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ฯลฯ ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง ชะลอการเสื่อมของจอประสาทตา มีไฟเบอร์สูง ช่วยเรื่องการขับถ่าย ยับยั้งการเกิดริ้วรอย ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย

  • ผักผลไม้สีเขียว: กะหล่ำปลีสีเขียว, บรอกโคลี, คะน้า, หน่อไม้ฝรั่ง, อะโวคาโด, แตงกวา, ผักโขม, ถั่วลันเตา, แอปเปิ้ลสีเขียว, องุ่นเขียว เป็นต้น

ผักผลไม้สีแดง
ผักผลไม้ที่มีสีแดงมีสารสำคัญ คือ ไลโคปีน (Lycopene) เบตาไซซีน (Betacycin) และสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ไลโคปีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นดีช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง ทำให้ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก ช่วยลดปริมาณไขมันไม่ดีชนิด LDL-cholesterol ช่วยชะลอการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือด ลดความดันโลหิตและลดการแข็งตัวของหลอดเลือด นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของริ้วรอยจากสิวอีกด้วย

  • ผักผลไม้สีแดง: มะเขือเทศ, กระหล่ำปลีแดง, พริกแดง, หอมแดง, บีทรูท, แอปเปิ้ลสีแดง, สตรอว์เบอร์รี่, เชอรี่, แครนเบอร์รี่, ราสเบอร์รี่, มะละกอ, ส้มโอสีชมพู, ทับทิม, องุ่นแดง, แตงโม และดอกกระเจี๊ยบ เป็นต้น


ผักผลไม้สีม่วงและสีน้ำเงิน
ผักผลไม้ที่มีสีม่วงและสีน้ำเงินมีสารสำคัญ คือ แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ช่วยต้านอนุมูลอิสระ มีการวิจัยพบว่า แอนโทไซยานินมีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินซีและอีถึง 2 เท่า ช่วยปกป้องหลอดเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดได้ ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ป้องกันมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้และตับ มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งของระบบสืบพันธุ์ ยับยั้งเชื้ออีโคไลในทางเดินอาหารที่ทำให้เกิดท้องเสีย ต้านไวรัส และลดการอักเสบ

  • ผักผลไม้สีม่วงและสีน้ำเงิน: มะเขือม่วง, กะหล่ำปลีสีม่วง, มันสีม่วง, เผือก, บลูเบอร์รี่, แบล็กเบอร์รี่, องุ่นสีม่วง, ลูกพรุน, ลูกไหน, ลูกหว้า, ข้าวแดง, ข้าวนิล, ช้าวเหนียวดำ เป็นต้น


ผักผลไม้สีเหลืองและสีส้ม
ผักผลไม้ที่มีสีเหลืองและสีส้มมีสารสำคัญ คือ แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ เบต้า-แคโรทีน (Beta-carotene) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และวิตามินซี (Vitamin C) ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดอาการอักเสบ ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง ช่วยรักษาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ชะลอการเสื่อมของจอประสาทตา มีส่วนช่วยพัฒนาการมองเห็นของเด็กเล็ก ลดการเสื่อมของเซลล์ร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย และช่วยให้ผิวพรรณสดใส

  • ผักผลไม้สีเหลืองและสีส้ม: แครอท, ฟักทอง, มันเทศ, ข้าวโพด, มันฝรั่งหวาน, พริกสีเหลือง, ส้ม, เสาวรส, มะม่วง, แคนตาลูป, มะละกอ, สับปะรด เป็นต้น


ผักผลไม้สีขาว
ผักผลไม้ที่มีสีขาวมีสารสำคัญ คือ แซนโทน (Xanthone) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ช่วยต้านอาการอักเสบ ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดไขมันในเลือด ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตและโรคหลอดเลือดหัวใจ ลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และช่วยลดอาการปวดตามข้อ

  • ผักผลไม้สีขาว: กล้วย, ลูกแพร์, น้อยหน่า, ลิ้นจี่, มังคุด, งาขาว, ขิง, กระเทียม, ผักกาดขาว, หัวไชเท้า, ดอกกะหล่ำ, ดอกแค, เห็ด, มันฝรั่ง เป็นต้น

ไม่น่าเชื่อใช่ไหมคะว่าผักผลไม้ที่เราทานกันอยู่ทุกวันจะแบ่งได้ตั้ง 5 สี และแต่ละสีก็มีประโยชน์ต่อร่างกายของเราอย่างมหาศาล เพราะฉะนั้นนอกจากจะทานอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว ทุกคนควรทานผักผลไม้ให้ครบ 5 สีในทุก ๆ วันด้วยนะคะ ร่างกายจะได้มีภูมิต้านทาน แข็งแรงไร้โรคภัย นอกจากนี้ยังทำให้เราหุ่นดี ผิวพรรณสดใสเต่งตึง หน้าใสอ่อนกว่าวัย เรียกว่าถ้ากินผักผลไม้ให้ครบ 5 สีเราก็จะสวยจากภายในออกมาถึงภายนอกกันเลย

พาราเซตามอล กินอย่างไรถึงจะดี

“พาราเซตามอล” ยาสามัญประจำบ้านที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี หลายบ้านยังมีติดไว้เพื่อใช้ในการลดไข้และบรรเทาอาการปวดในชีวิตประจำวัน ถือเป็นยาที่เข้าถึงได้ง่ายและจัดเป็นยาที่ไม่อันตราย แต่ในขณะเดียวกัน หากมีการใช้ยาไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน จึงมีการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาพาราเซตามอลที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อเป็นการให้ความรู้ต่อทุกคน นำไปสู่การใช้ยาที่เกิดประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย

ทำความรู้จักกับยาพาราเซตามอล

ยาพาราเซตามอล เป็นยาบรรเทาอาการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และบางครั้งยังใช้ลดไข้ในเด็กและผู้ใหญ่ จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน และเป็นยาที่ไม่อันตราย

กลไกการออกฤทธิ์ของยาพาราเซตามอล

ยาพาราเซตามอลออกฤทธิ์โดยการยับยั้งสารเคมีบางชนิดในสมองของมนุษย์ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับอาการปวด เช่น สารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) และจะชักนำให้เกิดกลไกการลดอุณหภูมิหรือลดไข้ของร่างกายลง

การใช้ยาพาราเซตามอล

  • ในการกินยา 1 ครั้ง ใช้ยาขนาด 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)
  • กินครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
  • ไม่ควรกินเกิน 8 เม็ดต่อวัน หรือ 4 กรัม/วัน
  • สามารถกินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • ระวังในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของตับบกพร่องหรือน้ำหนักตัวน้อย เนื่องจากอาจจำเป็นต้องปรับขนาดยา
  • เป็นยารักษาตามอาการ หากไม่มีอาการปวดหรือไม่มีไข้ ไม่จำเป็นต้องกินยา
  • กรณีลืมกินยา สามารถกินได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

ปัญหาที่พบจากการใช้ยาพาราเซตามอล

ใช้ยาพร่ำเพรื่อ

การกินยาพาราเซตามอลพร่ำเพรื่อติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ตับทำงานบกพร่อง โดยเฉพาะการกินยาร่วมกับแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการตับอักเสบมากขึ้น

ใช้ยาเกินขนาด

การกินยาพาราเซตามอลต่อครั้ง ระบุว่าต้องกินยาขนาด 1-2 เม็ด ถ้าหากกินมากเกิน 2 เม็ด ต้องดูที่น้ำหนักตัวของผู้ป่วยว่าสัมพันธ์กับขนาดยา 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หรือไม่ ถ้าหากนำน้ำหนักตัวผู้ป่วยมาคำนวณแล้วเกินกว่า 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) แปลว่าใช้ยาเกินขนาด จะทำให้มีความเสี่ยงต่อตับเช่นเดียวกับการใช้ยาพร่ำเพรื่อ

ใช้ยาทั้งที่ไม่มีอาการ

พบว่าบางรายมีการใช้ยาทั้งที่ไม่มีอาการ เช่น การกินยาดักไว้ก่อน เพื่อป้องกันอาการไข้ ทั้งที่ยังไม่มีไข้เกิดขึ้น ถือเป็นการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผล และไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา ทั้งยังอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้

อาการของการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด

อาการแสดงของการใช้ยาเกินขนาดจะแสดงใน 1-3 วัน มีทั้งหมด 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เหงื่อออก เป็นระยะสั้น ๆ โดยจะเกิดภายใน 24 ชั่วโมง บางรายอาจไม่มีอาการ

ระยะที่ 2 หลังกินยาระหว่าง 24-48 ชั่วโมง ไม่มีอาการแสดง แต่เมื่อเจาะเลือดจะพบว่าเอนไซม์ทรานซามิเนส (transaminase) เริ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่แสดงถึงการบาดเจ็บของตับ

ระยะที่ 3 หลังกินยาไปแล้ว 48 ชั่วโมง มีอาการตับอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารอีกครั้ง มีภาวะแทรกซ้อนเหมือนตับอักเสบทั่วไป หากรุนแรงอาจมีอาการสมองเสื่อมจากโรคตับ และเสียชีวิตได้หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาพาราเซตามอล

  • หากมีภาวะการทำงานของตับผิดปกติ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
  • ห้ามใช้ยากับคนที่แพ้ยาพาราเซตามอลเด็ดขาด อาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นขึ้น แน่นหน้าอก หายใจไมออก
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

การเก็บรักษายาพาราเซตามอล

  • เก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
  • เก็บให้พ้นแสงแดดและความร้อน อย่าให้อยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส
  • เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • อย่าเก็บยาในที่ชื้น เพราะจะทำให้ยาเสื่อมสภาพ